สถานการณ์ความมั่นคงกระทบความเชื่อมั่นชายแดนภาคใต้ปรับลดลงเล็กน้อย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดทำร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับลดลงทั้งโดยรวม ในปัจจุบัน และในอนาคต ดัชนีโดยรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.44 จากระดับ 56.42 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการปรับลดลงด้านความมั่นคงขณะที่ด้านเศรษฐกิจและสังคมปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่า ความเชื่อมั่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.77 จากระดับ 52.36 และความเชื่อมั่นในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 59.11 จากระดับ 60.48 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทั้งโดยรวม ปัจจุบัน และในอนาคต ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น
สาเหตุการปรับลดลงของดัชนีโดยรวม คาดว่ามาจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ ประกอบกับปัญหายาเสพติด ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เข้ามาในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันหยุดปิดภาคเรียน ประกอบกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศ รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและหนี้สินของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ภาวะหนี้สินระดับครัวเรือน และปัญหาด้านความมั่นคง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อความเชื่อมั่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 61.33 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านสังคมและความมั่นคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับจังหวัดอื่น ๆ สำหรับจังหวัดที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นโดยรวมรองลงมาได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 57.15) ปัตตานี (ระดับ 54.37) ยะลา (ระดับ 53.90) นราธิวาส (ระดับ 53.74) ตามลำดับ
หากพิจารณาเป็นรายอำเภอ พบว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี และยะลา ทุกอำเภออยู่ในช่วงเชื่อมั่น ขณะที่จังหวัดนราธิวาส มีอำเภอที่อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอสุไหงโกลก
สำหรับปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ เรื่องที่ประชาชนเห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาด้าน ค่าครองชีพหรือราคาสินค้าและบริการสูง (ร้อยละ 56.96) รองลงมา ได้แก่ ปัญหารายได้ตกต่ำ (ร้อยละ 49.57) ยาเสพติด (ร้อยละ 42.39) การว่างงาน (ร้อยละ 36.33) และความยากจนเรื้อรัง (ร้อยละ 34.42) ตามลำดับ โดยปัญหาส่วนใหญ่ประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น สำหรับปัญหาด้านยาเสพติดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับมากมาอยู่ที่ระดับมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดสงขลา และยะลา สอดคล้องกับเรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้านการลดค่าครองชีพ การมีงานทำ ราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหายาเสพติด
นายพูนพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในไตรมาสนี้จะปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น โดยประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาวะหนี้สินของภาครัฐ อาทิ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ “มีอยู่ มีกิน มีใช้” ซึ่งเป็นโครงการลดภาระหนี้สินโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ประชาชนฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้กลับมามีสภาพคล่อง เพิ่มศักยภาพในการทำรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และติดตามโครงการรถไฟ ทางคู่หาดใหญ่-สุไหงโก-ลกรวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงระหว่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจของไทยและมาเลเซีย คาดว่าจะผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หากแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ภาคใต้ สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงติดตามสถานการณ์ทางการค้าและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชน เพื่อให้สามารถรับมือกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที