สกร. ลุย! ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ดันผลงานสู่มาตรฐานสากล
วันที่ 30 มิถุนายน 2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบหมายให้นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานในพิธีเปิดอบรม “การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ระยะที่ 2” เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่ตามแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างทักษะความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองสิทธิ อันเป็นการส่งเสริมให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เกิดทักษะการเรียนรู้ด้านการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน พร้อมทั้งกิจกรรมลงมือปฎิบัติจริง (Workshop) ในการออกแบบโลโก้ ฉลากสินค้าแบรนด์สินค้าและบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สวยงามและเหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท ตามลำดับ ภายใต้คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สอดคล้องตามแผนการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีนางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ พร้อมด้วยนายทวีวัฒน์ อารีย์พงศา ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณท์ชุมชน ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) คณะอาจารย์จากสถาบันการศึกษา ได้แก่ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยชินวัตร อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เครือข่ายภาคเอกชน ผู้บริหารสถานศึกษา สกร. ครู สกร. และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการอบรมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมรอแยลเบญจา กรุงเทพมหานคร
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวว่า การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่มุ่งขับเคลื่อนแนวทางการเรียนรู้ยุคใหม่ โดยยึดหลักลงมือทำจริง สร้างสรรค์จริง และเรียนรู้เพื่อสร้างคุณค่า อันนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เนื่องจากโลกยุคใหม่ต้องการคนที่ไม่เพียงแต่รู้ แต่ต้องรู้เท่าทัน รู้วิธีสร้างสรรค์ผลงาน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการคิด วิเคราะห์ ออกแบบและผลิตชิ้นงานได้จริง สะท้อนถึงอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับบริบทชุมชน ซึ่งปัจจุบันการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่ในห้องเรียน แต่ต้องขยายผลสู่ชุมชน สร้างนวัตกรรมแห่งภูมิปัญญาและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นหัวใจแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 ด้านการพัฒนาและยกระดับทักษะอาชีพ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพครู สกร. ผู้เรียนหรือกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ให้มีความรู้ ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ มีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่โดดเด่น ตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะเน้นการปฏิบัติ การบูรณาการความรู้ในการพัฒนา ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านต่าง ๆ ของแต่ละประเภท การออกแบบแบรนด์ การบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการวางแผนธุรกิจชุมชน เพื่อให้ ครู สกร.สามารถนำความรู้ไปใช้ในการขยายผลและถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เติบโตและยั่งยืน คู่ขนานไปกับการพัฒนาหลักสูตรอาชีพให้มีคุณภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ เชื่อมโยงกับบริบทและทุนทางวัฒนธรรมไปพร้อมกัน มีการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การรับรองผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ซี่ง สกร.ได้เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของการพัฒนาทักษะอาชีพควบคู่กับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว การดำเนินงานของเราจึงมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพโดยอิงบริบทของชุมชน ผ่านกระบวนการฝึกอาชีพตามความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น ภูมิปัญญาชุมชน และทุนวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการรียนรู้ โดยกองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ยังได้พัฒนากลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน การสร้างครูและวิทยากรต้นแบบ การจัดทำหลักสูตรฝึกอาชีพเฉพาะทาง ตลอดจนการส่งเสริมการตลาดและการสร้างเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันและขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดที่กว้างขึ้น เพราะเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงาน คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้ที่มั่นคง มีทักษะที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ และเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็ง และประเทศที่มีรากฐานแห่งการเรียนรู้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของ สกร. จึงไม่เพียงเป็นการฝึกอบรมอาชีพ แต่เป็นกระบวนการสร้างชีวิต สร้างทักษะ และสร้างโอกาสให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัยในสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริง และการส่งเสริมทักษะและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวที่นำไปสู่การนำเสนอ เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้ง 77 ผลงาน ที่เป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาด้านทักษะอาชีพ ให้แก่บุคลากรและประชาชน ที่ตอบโจทย์ตลาดและความต้องการของผู้บริโภค โดยการทดลองตลาดในห้วงต้นเดือนกันยายน 2568 ต่อไป