“ตึก สตง. ถล่ม” โศกนาฏกรรม “เลือดเปื้อนปูน”
ใครผิด? ใครลอยนวล?
28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุการณ์ “สลด” สั่นสะเทือนวงการก่อสร้างและวิศวกรรมไทยอย่างรุนแรง
เมื่ออาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 30 ชั้น ที่กำลังก่อสร้างในย่านถนนกำแพงเพชร 2 กรุงเทพฯ พังทลายราบคาเมืองหลวงในพริบตา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นับเป็นโศกนาฏกรรมทางวิศวกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย พูดได้ว่าเป็น “วันอัปยศของวงการก่อสร้างไทย”
จนถึงวันนี้…คนไทยส่วนใหญ่ยังคงถามอยู่ในใจว่า “ใครต้องรับผิดชอบ?”
แม้เหตุการณ์นี้จะถูกโยนความผิดให้กับแผ่นดินไหวในพม่าขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่แรงสั่นสะเทือนส่งมาถึงกรุงเทพฯ แต่ความจริงแล้ว…มันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะตึกสูงอีกนับร้อยแห่งในกรุงเทพฯ ไม่ถล่ม! แต่ทำไม “ตึก สตง.” ถึงพังทลายราวกับกองทราย?
นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ว่าปัญหาเกิดจากการออกแบบและก่อสร้างไม่เป็นไปตามกฎหมาย และจะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดีต่อไป
ใครคือ “ตัวจริง” ที่ทำผิดพลาด? วิศวกรออกแบบ? บริษัทรับเหมา? หรือวิศวกรควบคุมงาน? ทุกคนอยากรู้
ใครต้องติดคุก? จับไปแล้วหลายราย ทั้งผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และผู้คุมงาน และเมื่อวานนี้ (22 ก.ค. 2568) ตำรวจนำสำนวนการสอบสวนคดีส่งให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 พิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งนิติบุคคล (จำนวน 7 บริษัท) และบุคคลธรรมดา (จำนวน 18 คน) ต้องติดตามดูว่าจะมี “มีใครติดคุกสักคนไหม?” เราต้องการเห็นความเป็นธรรม คนผิดจะต้องถูกลงโทษ ไม่ปล่อยให้ลอยนวล
ขอให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตเป็นพลังผลักดันให้ความยุติธรรมบังเกิด!
เหตุการณ์นี้…ไม่ได้กระทบแค่ชื่อเสียงของวงการก่อสร้างไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วไปในเรื่องความปลอดภัยของตึกสูงทั่วประเทศ
เหตุการณ์นี้…กำลังบั่นทอน “ศักดิ์ศรีวิศวกรไทย” ทั้งแผ่นดิน! ด้วยเหตุนี้ เราต้องไม่ยอมให้เรื่องนี้เงียบหายไปกับกาลเวลา เราควร…
(1) จัดทำกรณีศึกษาให้นักศึกษา วิศวกรรุ่นใหม่ได้เรียนรู้
(2) ยกระดับมาตรฐานการออกแบบ ควบคุมงาน และการรับรองวัสดุ
(3) สร้างระบบตรวจสอบอิสระที่โปร่งใส ไม่มีใครแทรกแซงได้
หากทำได้เช่นนี้ โศกนาฏกรรมซ้ำรอยจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต และจะส่งผลให้ “วิศวกรไทย” และ “อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกต่อไป!
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์