คอลัมนิสต์

โยนปืนถามทาง


13 กรกฎาคม 2025, 22:14 น.

 

<โยนปืนถามทาง>

 

เอาเรื่องเก่า<ปืนตำรวจ>มาเล่าใหม่

 

<ตำรวจ> เป็นอาชีพที่ใช้มือทั้งสองข้างทำงาน แต่ละข้าง ทำงานไม่เหมือนกัน เพราะมือหนึ่งถือ<กฎหมาย>อีกมือหนึ่งใช้<ปืน>

 

คนทั่วไปรู้ว่า ตำรวจคือผู้รักษากฎหมาย คือผู้ผดุงความยุติธรรม คือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

 

ดังนั้น บุคคลที่ตำรวจต้องพบเจอ คือผู้เสียหาย คือผู้กระทำความผิด คือพยาน

 

กรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี ตำรวจก็ต้องใช้ยุทธวิธี ในการสืบสวน จับกุม

 

บางครั้งตำรวจก็รู้ว่าผู้กระทำความผิด มีอาวุธ เช่น ปืน มีด ระเบิด หรืออาวุธร้ายแรงอย่างอื่น ๆ

 

ตำรวจจึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวเองและเพื่อมาตรการบังคับ

 

<อาวุธปืน ตำรวจเอามาจากที่ไหน ?>

1. ปืนของทางราชการ ที่เรียกกันว่า<ปืนหลวง>อย่าถามถึงคุณภาพ

2. ปืนมรดก อาจจะดีหน่อย ถึงเก่า แต่ก็ผ่านมือแค่คนสองคน

3. ปืนซื้อเอง รู้มั้ยว่า อุปกรณ์การทำงานของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ดินสอ ปากกา กระดาษ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ และเครื่องใช้ไม้สอยแทบจะทุก ๆ อย่าง ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจซื้อหามาเองทั้งนั้นรวมทั้งอาวุธปืนด้วย

 

ส่วนมากเป็นปืนสวัสดิการ คุณภาพดี ราคาถูกกว่าร้านขายปืน

 

เงินไม่พอ ก็กู้สหกรณ์ออมทรัพย์ซื้อเอา<เป็นหนี้>อีกละ

 

ตำรวจส่วนมาก จึงใช้อาวุธปืนซื้อเอง เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่

 

โดยให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจ อนุญาตให้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้

 

เมื่อออกจากการปฏิบัติหน้าที่หรือเวรยามก็เก็บปืนไว้ที่บ้าน

 

แต่บางคนก็ชอบพกติดตัวไป แม้จะออกเวรออกยามแล้ว เผื่อเจอเหตุซึ่งหน้าจะได้เข้าระงับยับยั้งได้

 

วนเวียนอยู่เช่นนี้ จนเกษียณอายุราชการ หรือออกจากราชการไป

 

ช่วงหนึ่ง กระแสสังคมมีความเห็นเรื่องการพกปืน การใช้อาวุธปืนของตำรวจ รุนแรงมาก เมื่อเกิดเหตุ อดีตตำรวจที่ถูกให้ออกจากราชการก่อเหตุสลดใจ

 

<สังคมต้องการ>ดังนี้

1. ให้ตำรวจเบิกอาวุธปืนโดยตรงจากหน่วยงาน เพื่อพกพาเฉพาะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อออกเวรหรือเลิกปฏิบัติหน้าที่ ก็ส่งอาวุธปืนคืนยกเว้นชุดสืบสวน ซึ่งทำงานต่อเนื่อง

 

2. สำหรับตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้ว ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดถ้ามีอาวุธปืนส่วนตัวแต่มีความประพฤติไม่เหมาะสมก็ควรหาทางยึดใบอนุญาต
เก็บอาวุธปืน

 

เอาแบบอย่างตำรวจของบางประเทศ

 

ผมเป็นตำรวจที่เกษียณอายุราชการแล้ว มีอาวุธปืนพกสั้นที่ซื้อมาเองเช่นเดียวกันได้พูดคุยกับเพื่อนตำรวจ ที่เกษียณอายุราชการบางคน<มีความเห็น>ว่า

1. ตำรวจที่ยังรับราชการก็ให้ใช้อาวุธปืนส่วนตัวในการปฏิบัติหน้าที่ได้โดยการอนุญาตของผู้บังคับบัญชาตามระเบียบแต่ก็ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะเบิกปืนหลวงไปใช้

 

2. ตำรวจคนใด มีความประพฤติไม่เหมาะสม ไม่สมควรที่จะต้องมีอาวุธปืนติดตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ก็ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา

 

3. ตำรวจที่เกษียณอายุราชการหรือออกจากราชการที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนแล้ว จะเก็บไว้ที่บ้าน ก็กลัวหาย กลัวลูกหลานเด็กเล็ก แอบเอาไปเล่นจนเกิดเหตุ จะเอาติดตัวไปเวลาออกจากบ้าน ก็กลัวมีเรื่อง กลัวยับยั้งชั่งใจไม่อยู่ เสี่ยงคุกเสี่ยงตารางอีก บางคนเครียดมาก ๆ ก็อาจจะคิดสั้น ฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนของตัวเอง

 

<จึงขอเสนอแนวทาง>ให้ ตร. ดังนี้คือ

1. ทำเป็นโครงการ
ประกาศขอซื้ออาวุธปืนพกสั้น อาวุธปืนยาว เฉพาะที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากข้าราชการตำรวจที่เกษียณอายุราชการ หรือออกจากราชการจากผู้ที่<เต็มใจ>จะขาย

 

ใคร<ไม่เห็นด้วย> ใคร<ไม่เต็มใจ>จะขาย ก็เป็นสิทธิ์ของเขาบังคับกันไม่ได้

 

2. ดำเนินการเพื่อไม่ให้อดีตตำรวจผู้ที่มีพฤติกรรม มีความประพฤติไม่เหมาะสม มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองแต่มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมด้วย

 

3. อาวุธปืนที่ซื้อคืนมานั้นสามารถดำเนินการได้ดังนี้

3.1 ขึ้นทะเบียนให้เป็นปืนหลวง ของ ตร. เพื่อให้ตำรวจเบิกไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ส่งคืนเมื่อออกเวรยาม

3.2 ขายให้กับนักเรียนตำรวจ ทั้ง นรต. และ นสต. เมื่อจบออกมาแล้ว จะได้มีอาวุธปืนส่วนตัวไว้ใช้

 

โดยมีเงื่อนไขคือ เมื่อเกษียณอายุราชการ หรือออกจากราชการ ต้องขายคืนให้ ตร.

 

<ผู้ดำเนินการ>คือ

1. <ตร.>
เป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าของโครงการ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และต้องประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

 

2. <สรรพาวุธ ตร.>
เป็นผู้ตรวจสอบอาวุธปืน รวมทั้งซ่อมบำรุง ราคาซื้อ ราคาขาย เป็นไปตามสภาพอาวุธปืน แต่ถูกกว่าท้องตลาดและปืนโครงการแน่นอน

 

<ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ>

1. ตร. จะเข้าสู่มาตรฐานเดียวกับอารยะประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับการพกพาและใช้อาวุธปืนของตำรวจ

2. ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ จะได้อาวุธปืนมีคุณภาพไว้ใช้

3. สังคมและประชาชน พึงพอใจ ลดความหวาดระแวง

 

<ความห่วงใย>

โจร ผู้ร้าย ที่มีอาวุธ เช่น ปีน ระเบิด มีดปลายแหลม ปังตอ ขวาน ฯ ถ้ามันเข้าไปจู่โจมคนในสังคมหรือประชาชน แล้วบังเอิญตำรวจที่เขาออกเวรยามแล้ว ส่งอาวุธปืนคืนหลวงแล้ว เขาไปเจอเหตุการณ์พอดี

 

เขาคงไม่กล้าเข้าไประงับเหตุ เขาคงไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ ก็เขาไม่ใช่พวก Super Hero ที่จะได้สู้โจรผู้ร้ายด้วยมือเปล่า

 

เขาทำได้ อย่างดีก็คงแค่ โทรศัพท์หรือวิทยุแจ้งเหตุ รอกำลังมาเสริม

 

แต่ระหว่างรอนั้น จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ? สุดที่จะคาดเดา

 

และได้โปรด อย่าไปฟ้องร้อง อย่าไปร้องเรียน ว่าเขาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นะ

 

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นของผมกับเพื่อน ที่มีแต่ความหวังดี ที่มีแต่ความห่วงใย ต่อองค์กรตำรวจ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อตำรวจที่เกษียณอายุราชการ ต่อตำรวจที่ลาออกหรือถูกจากราชการ ต่อสังคม ต่อประชาชน และต่อประเทศชาติ

 

ผมคนหนึ่งละ เกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว เวลาเดินทางไกลก็นำอาวุธปืนไปด้วย

 

ถ้าเกิดเหตุ<จำเป็น>ต้องใช้อาวุธปืน เช่น<ป้องกัน>ตัวเอง ป้องกันบุคคลอื่น ป้องกันทรัพย์สิน ก็มีความพร้อมที่จะใช้อาวุธปืนตามหลักกฎหมาย

 

แต่มาคิดดู คดีความที่เกิดขึ้นตามมา ต้องต่อสู้กันอีกกี่ศาล ? ต้องต่อสู้กันอีกกี่ปี ? เครียดเส้นโลหิตแตกตายก่อนมั้ง ?

 

ถ้ายอมเป็น !
ถ้าอ่อนข้อเป็น !
ถ้าหลีกเลี่ยงเป็น !

 

ก็คงไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธปืน เพื่อที่จะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลใน อนาคต

 

ความคิดส่วนตัวผม ผมพร้อมที่จะขายอาวุธปืนพกสั้นให้กับ ตร. ถ้า ตร. มีโครงการขึ้นมาจริง ๆ

 

จะผิด จะถูก อย่างไร ? อยู่ที่ดุลยพินิจวิจารณญาน ของทุกท่าน

 

บทความนี้ เป็นการ<โยนปืนถามทาง>ครับ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด