การเมืองอำมหิตเล่นงาน ประยุทธ์ มหากิจศิริ (4)

ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ
1. การดำเนินคดีกับประยุทธ์ ก็เพราะ ปปช. กล่าวหาว่า ที่ดิน แปลงใหม่ ที่ออกโฉนดจากการรวม ที่ดินเดิม 6 โฉนดนั้นมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกับที่ดินที่เคยเป็นป่าไม้และ สปก. โดยถือข้ออ้างจากกรมพัฒนาชุมชนว่าพื้นที่นั้นเคยมีที่ดินป่าไม้และ สปก.มาก่อน
ในขณะที่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานและ สปก. ได้ร่วมเดินสำรวจแนวเขตที่ดินและรับรองแผนที่ที่ดินโฉนดแปลงใหม่ เรียบร้อยแล้ว จึงมีความขัดแย้งกัน ซึ่งต้องถือความเห็น และการเดินสำรวจรังวัดในภูมิประเทศจริง ตลอดจนการรับรองแนวเขตแผนที่ ที่มีการออกโฉนดแปลงใหม่ เพราะกระทำโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินโดยตรง ในขณะที่ปปช.หรือกรมพัฒนาชุมชนไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง
เมื่อขัดแย้งกันจึงต้องฟังน้ำหนักของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ว่า การทำแผนที่โฉนดที่ดินแปลงใหม่นั้นถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว หรือถ้ามีเหตุอันควรสงสัยก็ต้องยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยนั้นให้แก่จำเลย
2. อันที่ดินประเทศไทยนั้น แต่ก่อนมาก็ไม่มีโฉนดที่ดิน เพิ่งมามี โฉนดที่ดิน ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาเมื่อมีการตราประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ก็มีการออกโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์อื่นเรื่อยมา
ดังนั้นบรรดาโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ทั้งหลาย ที่ออกโดยอำนาจแห่งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งประเทศจึงเคยเป็นที่หลวงมาก่อนทั้งสิ้น
3. ที่ดินป่าสงวนเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ 2484 โดยมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแต่ละพื้นที่ แต่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายป่าไม้บัญญัติว่าไม่กระทบถึงสิทธิของราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่แต่เดิม
ต่อมามีการตรากฎหมายปฏิรูปที่ดินพ.ศ 2518 กำหนดให้ที่ดินป่าไม้เสื่อมโทรม และมีราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินได้ แต่ไม่กระทบถึงสิทธิ์ของราษฎร ที่ครอบครองการทำประโยชน์อยู่แต่ก่อน
การรับรองสิทธิ์ของราษฎรที่ครอบครองการทำประโยชน์มาแต่ก่อนนั้น เป็นไปตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 5 ในการออกโฉนดที่ดินว่า ที่ดินทั่วพระนครศรีอยุธยานั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าราษฎรผู้ใดก่นร้างถางพงที่ดินใด ก็ให้เป็นสิทธิ์แก่มันแต่พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิ์จะเอาคืนได้ โดยจ่ายค่าตอบแทน(ค่าเวนคืน) ซึ่งมีผลเป็นกฎหมายเนื่องจากเป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชตามบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้
เพื่อรับรองสิทธิประโยชน์ของราษฎรที่ทำประโยชน์มาก่อนตาม พระบรมราชโองการนี้ และตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน
ดังนั้นทุกปีกรมที่ดินจึงเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ให้แก่ผู้ครอบครองทำประโยชน์ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเคยเป็นที่ดินอยู่ในเขต ป่าไม้และเขตปฏิรูปที่ดินทั้งสิ้น
ครั้นพิสูจน์สิทธิ์กันแล้วว่า ราษฎรรายใดครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อน กรมที่ดินก็จะออกโฉนดให้
ดังนั้นโฉนดที่กรมที่ดินออกให้ แก่ราษฎรที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตป่าไม้หรือเขตปฏิรูปที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวนี้ จึงทับซ้อน กับที่ดิน ที่เคยเป็นป่าไม้เดิมหรือเป็นที่ปฏิรูปเดิม ซึ่งไม่เป็นที่อัศจรรย์อันใด และเป็นไปตามบทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 และพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน 2518 นั่นเอง
เช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน 6 โฉนดที่บริษัทของประยุทธ์ไปซื้อมา จากเจ้าของที่ดินเดิม ก็เป็นไปได้ว่า ที่ดินเดิมนั้นเคยเป็นที่ดินป่าไม้ หรือที่ดิน สปก. ที่มีผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่แต่เดิม และได้ขอออกโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินได้พิสูจน์สิทธิ์แล้วจึงออกโฉนดให้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
4. การที่บริษัทประยุทธ์ไปซื้อที่ดิน 6 โฉนดนี้มา และได้จดทะเบียนสิทธิ์โดยถูกต้องจึงเป็นการได้ที่ดินมาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ทั้งเมื่อมีการรวมโฉนดที่ดิน ทั้ง 6 โฉนดเข้าเป็นโฉนดเดียวกัน โฉนดใหม่ก็เป็นโฉนดที่ดิน ที่ได้มาจากโฉนดที่ดินเดิม ย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ต่อให้ที่ดินเดิมอาจเคยถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวน หรือเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามเพราะได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิ์มาแล้วว่าผู้ขอออกโฉนดเดิมนั้น มีสิทธิ์ ที่จะได้รับโฉนดที่ดินตามกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ทางกรมป่าไม้และสำนักงานปฏิรูปที่ดินจึงไม่ได้โต้แย้งการเดินสำรวจระวังแนวเขตที่ดิน ในการออกโฉนดใหม่ และได้รับรองแนวเขตแผนที่ในการเดินสำรวจรังวัดออกโฉนดใหม่ว่าเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว
จึงต้องถือการรับรองแผนที่โฉนดใหม่ที่ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมเดินสำรวจและรับรองดังกล่าวว่าเป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย
5. ปปช. ได้นำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ที่เคยกำหนดเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปฏิรูปที่ดิน มาเป็นหลักฐานในการกล่าวอ้างว่า ที่ดินบางส่วนใน 6 โฉนดเดิมนี้ ทับซ้อนกับเขตป่าไม้ เดิมและเขตปฏิรูปที่ดินเดิม ซึ่งเป็นไปตาม กระบวนการดังกล่าวนั้นไม่เป็นที่อัศจรรย์อันใด
การกล่าวอ้างดังกล่าวจึง ไม่สามารถหักล้าง การร่วมเดินสำรวจและการรับรองแนวเขตและการออกโฉนดที่ดิน 6 โฉนดเดิมได้ กรณีต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินโฉนดแปลงใหม่ ที่รวมที่ดินเดิม 6 โฉนด แม้บางส่วนจะเคยเป็นพื้นที่ ป่าไม้หรือ สปก. มาก่อน แต่ได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ในการออกโฉนดที่ดิน 6 โฉนดมาก่อนแล้ว จึงเป็นที่ดินที่ได้มาโดยชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อมารวมกันเป็นโฉนดแปลงใหม่ก็เป็นการได้มาซึ่งที่ดินเดิม ในพื้นที่ 6 โฉนดเดิมนั่นเอง ไม่เป็นการบุกรุกที่ดินป่าสงวนหรือ สปก. ใหม่แต่ประการใด
6. การรับฟังข้อเท็จจริง ว่าที่ดิน แปลงใหม่ที่รวมที่ดินเดิม 6 โฉนดว่าทับซ้อนกับที่ดินป่าไม้และ สปก. บางส่วน จึงขัดกับประมวลกฎหมายที่ดิน ที่มีการออกโฉนดที่ดิน 6 โฉนดเดิมมาก่อนแล้ว และขัดแย้งกับการเดินสำรวจรังวัดในการรวมโฉนดที่ดินเป็นโฉนดแปลงใหม่ ซึ่งต้องถือเอา การออกโฉนดที่ดิน 6 โฉนดเดิม และการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินโดยถูกต้องเป็นหลัก
ข้อเท็จจริงต้องรับฟังว่า ที่ดินโฉนดแปลงใหม่ เป็นที่ดินที่รวมโฉนดที่ดินเดิมไม่ได้มีการบุกรุกหรือทับซ้อนที่ดินป่าไม้หรือที่ดิน สปก. ตามที่มีการกล่าวอ้าง
หรือถ้าในกรณียังเป็นที่สงสัย ว่าทำไมที่ดินใน 6 โฉนดเดิมและรวมเป็นโฉนดใหม่ จึงทับซ้อนกับที่ สปก. หรือที่ป่าไม้เดิม ในกรณีนี้ต้องยกประโยชน์และข้อสงสัยให้แก่จำเลย
แต่ในหลักกฎหมายนั้นต้องถือว่า โฉนดที่ดินที่ออกโดยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลักฐานราชการที่ฟังได้ว่าได้ออกตามกฎหมายโดยถูกต้อง
จะไปถือตามการคาดเดา ของหน่วยงานที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนกับคนเดินบ่นอยู่ข้างถนน มาเป็นหลักฐานว่า จำเลยทำ ความผิดและลงโทษจำเลยนั้นไม่ได้
Cr. Paisal Puechmongkol