ข่าวประชาสัมพันธ์

อนุ กมธ.การเงินฯ ฉะ “องค์กรรัฐ” เอื้อนายทุนรีดดอกเบี้ยโหดซ้ำเติม ปชช.


25 พฤษภาคม 2025, 11:17 น.

 

อนุ กมธ.การเงินฯ ฉะ “องค์กรรัฐ” เอื้อนายทุนรีดดอกเบี้ยโหดซ้ำเติม ปชช.

 

 

“อนุ กมธ.การเงิน การคลัง” เร่งช่วยเหลือประชาชน หลังได้รับการร้องเรียนถูกองค์กรรัฐ “แก้ไขกฎหมายเอื้อเอกชน” ส่งหนังสือด่วนถึง “ขุนคลัง” จี้ยกเลิกประกาศแบงก์ชาติ เปิดทางนายทุนรีดดอกเบี้ยแพงเกินกว่า กม.กำหนด ร้อยละ 15 ต่อปี ยกเคส ปชช.ฟ้อง “ดีเอสไอ” ถูกเมืองไทยแคปปิตอลฯ โขกดอกแพงหูฉี่ สุดท้าย “ดีเอสไอ” ต้องถอยเพราะประกาศ (ธปท.) ส่วน (สคบ.) งามหน้า! ไฟเขียวผู้ประกอบการเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อ จยย.ร้อยละ 23 เหน็บไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภค แต่เอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการ ขู่หากไม่แก้ไข ส่ง (ป.ป.ช.) ฟันแน่ ขณะที่การยาสูบแห่งประเทศไทยวิกฤติ ถูกมัดมือชกซื้อก้นกรองบุหรี่ราคาแพง ทำสูญรายได้ปีละหลายร้อยล้าน

 

ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังคนที่หนึ่ง ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ โดยมีอนุ กมธ. เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

 

 

สำหรับสาระสำคัญที่มีการพิจารณา ประกอบไปด้วย กรณีประชาชนผู้กู้เงินบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ความผิดตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ห้ามเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศที่ สนส./2562 ทำให้ดีเอสไอ ไม่สามารถดำเนินคดี กับบริษัท เมืองไทย แคปปิตอลฯ ได้นั้น

 

คณะอนุกรรมาธิการฯ โดยนายพฤฒิชัยฯ เห็นว่าการออกประกาศของ ธปท.ทั้ง 2 ฉบับ คือ สนส.11/2563 และ สนส. 12/2563 ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ไม่เกินร้อยละ 15 ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบด้วยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ.2515 (ปว.58) เพราะเป็นเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน จึงขอเสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยกเลิกการมอบอำนาจให้ ธปท. ตาม ปว.58 พ.ศ.2515 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยกประกาศของ ธปท.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

 

 

นายพฤฒิชัยฯ ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ย เกินร้อยละ 15 ทว่าหากพิจารณาถึงการออกประกาศ ธปท. ในเรื่องการกำหนด และกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย,การออกประกาศ ธปท.ที่สนส.11/2563 เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต กลับให้เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 และสนส.12/2563 เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ร้อยละ 24 และกรณีไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ร้อยละ 25 ได้ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการได้ระบุว่า ในช่วงปลายปี 2563 บริษัท เมืองไทยแคปปิตอลฯ ได้ถูกประชาชนผู้กู้เงินแจ้งความดําเนินคดีในข้อหาความผิดตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ต่อดีเอสไอ และดีเอสไอได้รับดําเนินคดีแล้ว แต่ปรากฏว่า ธปท.ได้ออกประกาศ ที่ สนส. 2/2562 ในช่วงต้นปี 2562 (วันที่ 11 มกราคม 2562) ทําให้ดีเอสไอมีคําสั่งไม่ฟ้องบริษัท เมืองไทยแคปปิตอลฯ โดยอ้างว่า เนื่องจาก ธปท.ออกประกาศ ที่ สนส.2/2562 แล้ว ดีเอสไอจึงไม่สามารถดําเนินคดีกับบริษัท เมืองไทยแคปปิตอลฯ ได้อีก
ซึ่งกรณีดังกล่าวดูเหมือนกับว่า ธปท.ออกประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท เมืองไทยแคปปิตอลฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการการเงินฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0017.05/4442 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอแนะให้ยกเลิกประกาศ ธปท.ทั้ง 2 ฉบับ และยกเลิก ปว.58 ไปแล้ว

 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ปรากฏว่าผู้บริหาร (สคบ.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ (สคบ.) มาร่วมประชุมแทน โดยนายพฤฒิชัยฯ ได้ตำหนิว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมาได้ตกลงว่า หากเลขาธิการ (สคบ.) ติดภารกิจ ให้มอบหมายรองเลขาฯ ร่วมประชุมแทน จึงขอให้การประชุมครั้งหน้าต้องยึดตามข้อตกลงเดิม โดยที่ประชุมได้หารือถึงการออกประกาศ (สคบ.) เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อปี 2565 ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 23 ต่อปี ส่งผลให้ประชาชนผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูง และยังเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยต่อกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี

 

จึงขอให้ (สคบ.) เร่งทบทวนแก้ไขประกาศที่ไม่เป็นธรรม และเอาเปรียบประชาชนผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ที่มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน การออกประกาศของ (สคบ.) จึงไม่ใช่การคุ้มครองผู้บริโภค หากแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการมากกว่า ซึ่งนายพฤฒิชัยเรียกร้องให้ สคบ.เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่ดำเนินการ อนุกรรมาธิการฯ ก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะนำเรื่องไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเรื่องที่น่าสนใจและจะมีการประชุมอนุกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์หน้า คือกรณีการจัดซื้อจัดจ้างก้นกรองบุหรี่ของการยาสูบแห่งประเทศไทย มีราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยมีลักษณะของการล็อกสเปกผูกขาดให้กับเอกชนผู้นำเข้าก้นกรองบุหรี่ ซึ่งที่ผ่านมาอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการ

 

โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอแนะผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย ทำหนังสือปรึกษาหารือกับทางสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีที่ต้องซื้อกรองบุหรี่จากผู้ประมูลภายในประเทศ ทำให้มองว่าเป็นสัญญาผูกขาด เพราะพิจารณาไปแล้วผู้ประมูลจัดซื้อก้นกรองมาในราคา 200 ล้านบาท แต่มาขายให้กับการยาสูบแห่งประเทศไทยในราคา 350 ล้านบาท ถือว่ามีราคาแพงเกินไป ทำให้รัฐต้องเสียเงินเปล่าประโยชน์ไป 150 กว่าล้านบาท ควรที่จะให้ ป.ป.ช.เสนอแนวทางออก โดยขออนุญาตซื้อจากต่างประเทศซึ่งต้นทุนจะถูกกว่า และสามารถสร้างผลกำไรให้กับทางการยาสูบแห่งประเทศไทยอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้กำชับให้ผู้ว่าการการยาสูบฯ ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน ที่สำคัญ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้ห้ามไม่ให้การยาสูบฯ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับต่างชาติ หากมีการจัดซื้อจัดจ้าง 2 ครั้งต่อปี จะทำให้ลดเงินไปถึง 200-300 ล้านบาท จึงควรเสนอเรื่องไปถึง ป.ป.ช. เพื่อเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาประมูล ซึ่งจะส่งผลให้ก้นกรองยาสูบมีราคาถูกลง

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด