วช. จับมือ กทม. สสส. สภาลมหายใจกรุงเทพฯ และ มก. ร่วมตอบคำถาม “ฝุ่นกรุงเทพฯ มาจากไหน” ภายใต้กิจกรรม “นักสืบฝุ่น The series”
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรม “นักสืบฝุ่น The series สงครามฝุ่นเมือง” ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “ฝุ่นกรุงเทพฯ มาจากไหน” โดย ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง “การค้นหาแหล่งที่มาของวิกฤตฝุ่นใน กทม. และแนวทางความร่วมมือด้านวิชาการ”, รศ.ดร.ตุลวิทย์ สถาปนจารุ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดประเด็นเรื่อง “DNA ฝุ่นเมือง” ณ ห้องประชุมรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรม “นักสืบฝุ่น” ในครั้งที่ 2 นี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่แต่ละหน่วยงานในภาคีเครือข่ายได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบูรณาการความรู้เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยในแก้ไขปัญหาคือ การมีฐานข้อมูลเชิงวิชาการและงานวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ เพื่อให้สามารถระบุแหล่งที่มาและกลไกการเกิดฝุ่นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นในระดับประเทศต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญภายใต้ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (HTAPC : Hub of Talents on Pollution and Climate) ตลอดจน (วช.) ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับ “การหาแหล่งกำเนิดและที่มาของฝุ่นละออง PM2.5” ครอบคลุมใน 3 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ ภาคกลางและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในระดับพื้นที่ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการบูรณาการองค์ความรู้จากภาควิชาการสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวทางการจัดการฝุ่นอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศ คุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชน
รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่หนาแน่น การเผาในที่โล่ง รวมถึงฝุ่นทุติยภูมิ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ยังพบว่าฝุ่นละอองบางส่วนมีการพัดพาจากระยะไกล และมีความเข้มข้นของฝุ่นสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาเอื้อต่อการสะสมตัวของฝุ่น ปัจจัยด้านอุณหภูมิและความชื้น ล้วนเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่สามารถลอยตัวและกระจายออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของฝุ่นในบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเปิดคดีอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ “ภัยคุกคามฝุ่นเมือง PM2.5 ตัวการร้ายทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.ลภัสรดา เสาหะสกุล สำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สะท้อนปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และกิจกรรมเสวนาแสวงหาพยานหลักฐาน โดย ผศ.ดร.ธัญภัสสร์ ทองเย็น คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.รัฐพร แสนเมืองชิน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ, ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และนายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ได้ทิ้งเบาะแสสำคัญในการไขคดีอาชกรรมสิ่งแวดล้อมด้วยการเชิญชวนนักวิชาการและทุกภาคส่วนร่วมกันเปลี่ยน “Data” เป็น “Action” การเสวนาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันวิเคราะห์แหล่งกำเนิดและลักษณะสถานการณ์ของฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทย ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการนำองค์ความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการกำหนดมาตรการเชิงนโยบายและสนับสนุนการแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่นของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน