ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

กรมศุลกากรชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรสนามบินสุวรรณภูมิเรียกรับเงิน และบังคับนักท่องเที่ยวจีนให้เซ็นเอกสารยกนาฬิกา Rolex ให้กับแผ่นดิน


1 พฤษภาคม 2025, 13:38 น.

 

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรสนามบินสุวรรณภูมิเรียกรับเงินและบังคับนักท่องเที่ยวจีนให้เซ็นเอกสารยกนาฬิกา Rolex ให้กับแผ่นดิน นั้น กรมศุลกากรขอชี้แจง มีรายละเอียดดังนี้

 

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 21.15 น. ผู้โดยสารชาวจีน 2 รายนี้ เดินทางมาจากมาเก๊า โดยมีนาฬิกาข้อมือ Rolex สภาพใหม่ มีพลาสติกใสห่อหุ้มตัวเรือน พร้อมใบรับประกัน และอุปกรณ์อื่นๆ มาคนละ 1 เรือน เดินผ่านช่องเขียว (ไม่มีของต้องสำแดง) เจ้าหน้าที่ศุลกากร ได้เรียกตรวจ ผู้โดยสารทั้ง 2 ราย พบนาฬิกาข้อมือใหม่อยู่ในกระเป๋าของผู้โดยสารคนละ 1 เรือน

 

ในขณะทำการตรวจสอบผู้โดยสารรายหนึ่ง มีการพูดคุยเสียงดังตลอดเวลา ส่วนอีกคนไม่ค่อยพูด ให้คนแรกเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง หลังจากนำตัวผู้โดยสารทั้ง 2 ราย มาที่ห้องของฝ่ายสืบสวนและปราบปราม เพื่อทำการบันทึกข้อกล่าวหา ผู้โดยสารคนแรก มีการโทรศัพท์คุยกับบุคคลภายนอกตลอดเวลา ไม่ค่อยให้ความสนใจ หรือรับฟังคำอธิบายข้อกฎหมายและสิทธิตามกฎหมาย จากเจ้าหน้าที่ และล่ามภาษาจีน ส่วนคนที่สองนั่งนิ่งเงียบไม่ค่อยตอบคำถามอะไร บอกแต่เพียงว่าตนจะทำตามผู้โดยสารคนแรก เท่านั้น

 

ในระหว่างการจับกุมได้มีบุคคลภายนอกอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานอื่น โทรเข้ามาขอให้ผู้โดยสารทั้ง 2 ราย สามารถไปเสียภาษีแทนการจับกุม เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าได้พิจารณาจับกุมไปแล้ว เนื่องจากผู้โดยสารเดินผ่านทางช่องเขียว หรือ ช่องไม่มีของต้องสำแดง (Nothing to Declare) แสดงเจตนาว่าไม่มีของต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลการ ถือว่าได้มีเจตนาปกปิด หรือ ซ่อนเร้น จึงเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปเสียภาษีได้ ระหว่างการจับกุมมีเพียงผู้โดยสารรายแรก ขอไปเข้าห้องน้ำ 1 ครั้ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 2 นาย พาไปเข้าห้องน้ำผู้โดยสารบริเวณสายพานหมายเลข 9 และยืนรออยู่ที่หน้าทางเข้าห้องน้ำ ไม่ได้เดินเข้าไปด้วย ทั้งนี้ในระหว่างนั้น ก็มีบุคคลภายนอกอีกราย ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกหน่วยงานหนึ่ง โทรศัพท์มาขอให้ไปเสียภาษีอีก 1 รอบ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธ โดยชี้แจงเหตุผลตามที่ชี้แจงเบื้องต้น (ส่วนผู้โดยสารรายที่ 2 ไม่ได้มีการไปเข้าห้องน้ำระหว่างการจับกุม)

 

ในระหว่างการดำเนินการจับกุมได้มีเพื่อนของผู้โดยสารทั้ง 2 ราย โทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดเป็นระยะๆ และแจ้งว่ากำลังเดินทางมาสนามบินเพื่อจะมาพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาเรื่องเคสของทั้งคู่ แต่ก็ไม่มีใครเดินทางมา หลังจากล่ามแปลความโดยอธิบายเอกสารบันทึกจับกุมให้ฟังแล้ว ผู้โดยสารทั้ง 2 ราย แจ้งว่าขอเวลาคิดและโทรปรึกษาคนอื่นก่อน แล้วจะให้คำตอบอีกทีว่าจะยินยอมระงับคดีในชั้นศุลกากร และยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินหรือไม่ หลังจากโทรปรึกษาเรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารทั้ง 2 รายตัดสินใจไม่ระงับคดีในชั้นศุลกากร และจะขอไปสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งผู้โดยสารทั้ง 2 ราย ไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม จนกระทั่งเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่จึงได้พาตัว ผู้โดยสารทั้ง 2 ราย ไปที่สถานีตำรวจภูธรสุวรรณภูมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อไป

 

ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลาประมาณ 13.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อกลับมาเป็นหนังสือ ขอส่งตัวผู้ต้องหามาขอระงับคดี ได้มีการระบุข้อความชัดเจนว่า ระหว่างการสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ผู้ต้องหามีความประสงค์ที่จะระงับคดีด้วยความสมัครใจของตนเอง จึงขอให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาไปยังที่ทำการศุลกากรประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อให้ของกลางตกเป็นของแผ่นดินต่อไป จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปที่สถานีตำรวจภูธรสุวรรณภูมิ เพื่อนำตัวผู้โดยสารไประงับคดีกับศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากร จึงได้ไปพาตัวผู้โดยสารทั้ง 2 รายไปพบนิติกร ฝ่ายคดี เพื่อระงับคดีตามขั้นตอนต่อไป เมื่อระงับคดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้ปล่อยผู้โดยสารทั้ง 2 ราย และโดยได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่าจะไปรับพาสปอร์ตคืนจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีหนังสือร้องเรียนในเรื่องเกี่ยวกับกรณีการจับกุมรายดังกล่าวมาที่กรมศุลกากร ทางสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีหนังสือชี้แจง ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ให้กรมศุลกากรทราบแล้ว เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568

 

กรมศุลกากรขอเรียนชี้แจงว่า การตรวจ และการจับกุมผู้โดยสารเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนครบถ้วนทุกประการ รวมถึงการชี้แจงและแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้กระทำการผ่านล่ามเพื่อแปลเป็นภาษาจีนให้ผู้โดยสารได้เข้าใจอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งนี้ผู้โดยสารทั้งสองรายดังกล่าวไม่ยินยอมระงับคดีในชั้นศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงส่งให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสุวรรณภูมิดำเนินคดีต่อไป โดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญให้กระทำการ หรือลงนามในบันทึกจับกุมแต่อย่างใด และเมื่อสถานีตำรวจภูธรสุวรรณภูมิ มีหนังสือขอส่งตัวผู้ต้องหามาขอระงับคดี เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ครบทุกขั้นตอน ผ่านพยานซึ่งเป็นล่ามภาษา โดยมิได้มีการกระทำใดๆที่เป็นการบังคับขู่เข็ญ พร้อมทั้งมีหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารทางราชการ โดยไม่มีการเรียกร้องรับผลประโยชน์ ตามที่ได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด